ปริศนาคำทาย

วันจันทร์ที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

ครั้งที่ 4

7 ขั้นตอนพัฒนาการทางภาษาของเด็ก
                   โลแกน และโลแกน ( 1974 อ้างถึงใน อารยา  สุขวงศ์. 2533 :107-109)

 1.ระยะเปะปะ (Random Stage)
                       อายุตั้งแต่แรกเกิด-6 เดือน ในระยะนี้จะพบว่า เด็กทารกมีการเปล่งเสียงอย่างไม่มีความหมาย การเปล่งเสียงของเด็กเป็นการบ่งบอกให้ผู้ใหญ่  รับรู้ถึงความต้องการของเด็ก เด็กจะส่งเสียงเมื่อไม่สบายตัว เมื่อเจ็บปวด เมื่อถูกทิ้งให้อยู่คนเดียว แม้กระทั่งความรู้สึกที่เป็นสุข การเปล่งเสียงทำให้เด็กได้รับการตอบสนองจากผู้เลี้ยงดู และ เมื่ออายุ 6 เดือน เสียงของเด็กจะเริ่มชัดเจน เรียกเสียงที่เปล่งในระยะนี้ว่าเสียงอ้อแอ้ ที่เรียกกันว่าเริ่มคุยแต่ยังไม่สามารถสื่อให้ผู้อื่นเข้าใจได้ ในช่วงนี้เป็นระยะที่ควรสนับสนุนการพูดของเด็กโดยการพูดคุยด้วย เด็กที่สุขภาพดี มีการเลี้ยงดูอย่างใกล้ชิด มีคนพูดคุยด้วย จะมีโอกาสพัฒนาทางภาษาได้ดีกว่าเด็กที่เจ็บป่วยหรือถูกทอดทิ้ง
 2.ระยะแยกแยะ (Jergon State)
                     อายุ 6 เดือน-1 ปี ในระยะนี้ เด็กจะเริ่มแยกแยะเสียง ที่เขาได้ยินในสิ่งแวดล้อม เช่น เสียงพูดคุยของแม่หรือผู้ให้การเลี้ยงดู เด็กจะแสดงลักษณะของการหยุดฟัง และแสดงอาการจดจำเสียงที่ได้ยินได้ เด็กจะรู้สึกพอใจถ้าหากเปล่งเสียแล้วได้รับการตอบสนองในทางบวก เช่น การพูดคุยด้วยหรือการแสดงอาการยิ้มแย้ม เด็กจะเปล่งเสียงเหล่านั้นซ้ำๆ อีก ในบางครั้งเด็กจะทำเสียงตามเสียงที่พูดคุยด้วย
 3.ระยะเลียนแบบ (Imitation Stage)
              อายุ 1-2 ปี เสียงที่อยู่ในสิ่งแวดล้อมโดยเฉพาะเสียงของคนที่ใกล้ชิด เป็นเสียงที่เด็กวัยนี้สนใจและเริ่มเลียนแบบ เสียงที่เปล่งขึ้นของเด็ก จะเริ่มมีความหมายและแสดงกิริยาตอบสนองการได้ยินเสียงของผู้อื่น นักภาษาศาสตร์ถือว่า เป็นขั้นตอนที่แสดงถึงพัฒนาการทางภาษาอย่างแท้จริงของเด็ก
 4.ระยะขยาย (The Stage of Expansion)
                2-4 ปี เด็กจะเริ่มหัดพูดโดยเปล่งเสียงออกมาเป็นคำๆ ระยะแรกจะเป็นการพูดโดยเรียกชื่อคำนามออกชื่อคนที่อยู่รอบข้าง สิ่งของต่างๆ ที่อยู่ใกล้ตัวรวมทั้งคำคุณศัพท์ที่เด็กได้ยินผู้ใหญ่พูดกัน ความสามารถในการพูดของเด็กอายุ 2-4 ปี มีดังนี้
         อายุ 2 ปี เริ่มพูดเป็นคำและสามารถใช้คำที่เป็นคำนามได้ถึงร้อยละ 20
         อายุ 3 ปี เด็กจะเริ่มพูดเป็นประโยคได้
         อายุ 4 ปี เริ่มใช้คำศัพท์ต่างๆ ได้กว้างขวางขึ้น สามารถใช้คำขึ้นต้นหรือ
         คำลงท้าย อย่างที่ได้ยินผู้ใหญ่ใช้
 5.ระยะโครงสร้าง (Structure Stage)
           อายุ 4-5 ปี การรับรู้และการสังเกตของเด็กวัยนี้ดีขึ้นมาก ซึ่งทำให้เด็กได้สังเกตการณ์ใช้ภาษาของบุคคลที่อยู่รอบข้างและนำมาทดลองใช้ประสบการณ์ที่เด็กได้รับ เช่น จากการฟังนิทาน ดูรายการวิทยุโทรทัศน์ การเล่นกับเพื่อน หรือพี่น้อง การพูดคุยกับผู้ใหญ่ ล้วนแล้วแต่เป็นการช่วยให้เด็กเก็บข้อมูลทางภาษาให้เพิ่มมากขึ้นเด็กจะรู้สึกเล่นสนุกกับคำ คิดสร้างคำและประโยคด้วยตนเอง โดยจดจำคำหรือวลีตลอดจนประโยคที่ได้ยินมา
 6.ระยะตอบสนอง (Responding Stage)
  อายุ 5-6 ปี การพัฒนาทางภาษาของเด็กวัยนี้จะเริ่มสูงขึ้น เพราะเด็กจะเข้า
เรียนในโรงเรียนอนุบาล เด็กได้พัฒนาคำศัพท์เพิ่มขึ้น รู้จักการใช้
ประโยชน์อย่างเป็นระบบตามหลักไวยากรณ์ การใช้ภาษาจึงเป็นภาษาที่มี
แบบแผนมากขึ้น ภาษาของเด็กจะใช้สำหรับการสื่อสารที่ให้ความหมาย
และเพื่อแสดงให้ผู้รับรู้ถึงสิ่งที่เขามองเห็นหรือรับรู้
7.ระยะสร้างสรรค์ (Creative Stage)
  อายุตั้งแต่ 6 ปีขึ้นไป เด็กจะพัฒนาความสามารถทางภาษาได้สูงขึ้น
สามารถจดจำสัญลักษณ์ทางภาษาได้มากขึ้น สำหรับด้านการพูด สามารถ
 ใช้ถ้อยคำที่เป็นสำนวนหรือคำที่มีความหมายลึกซึ้งได้ เด็กจะพัฒนา
วิเคราะห์และสร้างสรรค์ทักษะทางภาษาได้สูงขึ้น ใช้ภาษาพูดที่เป็น
นามธรรมมากขึ้นด้วย การสื่อสารในขั้นตอนนี้ จะเป็นการแสดงออกซึ่ง
ความรู้สึกนึกคิดของเด็ก

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น